ในภาวะที่ตลาดโลกไม่เอื้ออำนวย เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่จะผลักดันธุรกิจให้มีการเติบโต ด้วยอัตราการเติบโตของการค้าชายแดนปีละกว่า 20% ประกอบกับความต้องการบริโภคสินค้าที่หลากหลาย จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยต้องจับตา
ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกำลังซื้อประเทศชั้นนำของโลกหดหาย การค้าชายแดนกลับยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสใหม่ของภาคธุรกิจที่จะปรับเพิ่มสัดส่วนการค้ากับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)
สอดรับกับภาครัฐเองก็เล็งเห็นความสำคัญของการเพิ่มโอกาสในตลาดการค้าชายแดน จึงกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นกับจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร และสงขลา ทั้งนี้การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยส่งเสริมการค้า และการลงทุน ผ่านสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนได้รับจากการดำเนินกิจการภายในพื้นที่ดังกล่าว
สิทธิประโยชน์จาก BOI
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดสิทธิประโยชน์สูงสุดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้การ "ยกเว้น" ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% เพิ่มอีก 5 ปี กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายตามเงื่อนไขของประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามยุทธศาสตร์ใหม่ปี พ.ศ.2558 โดยกำหนดกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่มได้แก่
1. อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง
2. การผลิตเซรามิก
3. อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม/ เครื่องหนัง
4. การผลิตเครื่องเรือน
5. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
6. การผลิตเครื่องมือแพทย์
7. อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักร/ ชิ้นส่วน
8. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า /อิเล็กทรอนิกส์
9. การผลิตพลาสติก
10. การผลิตยา
11. กิจการโลจิสติกส์
12. นิคม/ เขตอุตสาหกรรม
13. กิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว
ส่วนอุตสาหกรรมใดที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีแนบท้ายดังกล่าว กระทรวงการคลังกำหนดสิทธิประโยชน์ด้วยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 20% ลงเหลือ 10% ระยะเวลา 10 ปี ครอบคลุมกิจการการผลิตสินค้าต่าง ๆ รวมทั้งธุรกิจบริการ ซึ่งต้องเป็นกิจการที่ให้บริการ และใช้บริการในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
นอกจากนี้ภาครัฐยังส่งเสริมสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น การให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปค้ำประกันการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีรวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านธนาคารชั้นนำ วงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาท
ตามแผนงานดังกล่าวภาครัฐต้องการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 จังหวัดให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน เพื่อเร่งโอกาสของการค้าชายแดน ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 70% ของการค้ากับประเทศในกลุ่ม CLMV และ ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในอาเซียนตอนบนอีกด้วย
สำหรับการค้าชายแดนของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมามีตัวเลขเติบโตปีละกว่า 20% สูงกว่าการค้ากับตลาดโลกที่โตปีละ 8% เท่านั้น ขณะที่การค้าชายแดนยังเป็นการส่งออกหลักที่ทำให้ประเทศไทยเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่องผิดกับตลาดโลกที่ประเทศไทยขาดดุลการค้ามาตลอด
ขณะเดียวกัน แม้ภาครัฐจะกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อส่งเสริม และผลักดันให้เกิดเขตอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และวางยุทธศาสตร์ระยะยาวให้กับประเทศ แต่ในความเป็นจริงสินค้าส่งออกชายแดนส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐานเช่น น้ำตาล น้ำมัน น้ำอัดลม เบียร์ อุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ โทรศัพท์ และอื่นๆเป็นต้น
สรุปแล้วเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะเป็นหนึ่งในกลไกของรัฐที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ควบคู่ไปกับกลุ่มประเทศ CLMV โดยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะได้เห็นการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเขตอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนในอนาคต เขตเศรษฐกิจพิเศษอาจจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีความได้เปรียบจากการใช้แรงงาน และความได้เปรียบอื่นๆ จากประเทศเพื่อนบ้าน